วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประสบการณ์ตรง สู่ความเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับมัธยมศึกษา (๓)


บันทึกที่ ๑...
บันทึกที่ ๒...

การเข้าร่วมต้อนรับและสังเกตการประเมินโรงเรียนโนนสังฯ ผมได้เรียนรู้และยกระดับจิตวิญญาณของตนเองขึ้นอีก.... ผมสรุปว่า แค่เพียงเดินติดตามผู้รู้ที่เป็นครูของแผ่นดิน เพียงไม่นาน จะได้ประสบการณ์แบบที่จะไม่ได้จากการอ่าน แม้จะเป็นการอ่านงานเขียนของท่านเองก็ตาม.... ผมอยากสรุปเฉพาะใจความสำคัญหลักๆ ที่ได้เรียนรู้จาก "ครูของแผ่นดิน" ดร.ปิยานุช เพื่อเป็นประโยชน์กับ โรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อน ฯ และผู้สนใจ เอาไปพิจารณาต่อไป....

โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียง กับ โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

๑) วัตถุประสงค์ต่างกัน

โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียง เน้นการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ให้กับนักเรียน เมื่อทำสำเร็จ เด็กมีอุปนิสัยพอเพียง จึงจะได้รับการประเมินผ่านการเป็นโรงเรียนสถานศึกษาพอเพียง  (หากทำไม่สำเร็จ ไม่ควรผ่านการประเมิน) ส่วนโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ เน้นการเผยแพร่ ถ่ายทอด แนะนำ ช่วยเหลือ ให้ "ผู้อื่น" (ในที่นี้ หมายถึง โรงเรียนอื่นๆ หน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งชุมชนและสังคม) โดยใช้ประสบการณ์ความสำเร็จ หรือ แนวปฏิบัติที่ดี (ตัวอย่างที่ดี) ที่เคยทำมาแล้วและได้ผล 

นั่นหมายถึง สถานศึกษาพอเพียงทุกโรงเรียน สามารถขอรับการประเมินฯ เป็นโรงเรียนศูนย์ฯได้ ถ้ามีศักยภาพในการเผยแพร่ ถ่ายทอด แนะนำ ช่วยเหลือ "ผู้อื่น" ให้ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ด้วย นั่นหมายถึง ถ้าจะขอรับการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์ฯ ได้ ต้องเป็น โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียงที่ดีมาก่อน

สรุปเทียบกับ ระบบการศึกษาไทย (ที่ให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษา มากกว่าปัญญาและความดีของคน) ระดับต่างๆ ได้แก่ อนุบาล->ประถม-> มัธยม-> ป.ตรี-> ป.โท-> ป.เอก-> "คนทำงาน" -> "ครู-อาจารย์" โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียงไม่ใช่โรงเรียนที่กำลังเรียนรู้อยู่ อนุบาล-ป.เอก แต่เปรียบเหมือน "คนทำงาน" คนที่ผ่านงาน มีประสบการณ์และประสบผลสำเร็จในการทำงานนั้นๆ มาแล้ว  ส่วนโรงเรียนศูนย์ฯ เปรียบเหมือน "คนทำงาน" ที่ได้รับการยกย่องเป็น "ครู-อาจารย์" ที่สามารถ "สื่อสาร เผยแพร่ ถ่ายทอด แนะนำ และช่วยเหลือ" ให้ลูกศิษย์ ประชาชนคนรุ่นหลังได้ประสบผลสำเร็จบ้าง (ไม่ใช่คนที่มีตำแหน่งครู อาจารย์)

๒) มาตรฐานตามเกณฑ์ก้าวหน้า

เนื่องจากวัตถุประสงค์ต่างกัน ทำให้ลักษณะที่สำคัญของโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ "เติมต่าง" ไปด้วย  วิธีทำความเข้าใจ ง่ายที่สุดคือ การทำความเข้าใจกับเกณฑ์ก้าวหน้า ๕ ระดับ (ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ที่นี่ครับ) คือ
     ระดับ ๑ รู้และเข้าใจ  (อ่านระดับของความเข้าใจได้ที่นี่)
     ระดับ ๒ นำไปปฏิบัติกับตนจนเกิดผลพอใจ
     ระดับ ๓ มีแนวปฏิบัติที่ดีในการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง"
     ระดับ ๔ เป็นตัวอย่างที่ดีและมีประสบการณ์การขยายผลสู่คนอื่น และ
     ระดับ ๕ ยั่งยืนระเบิดจากภายใน

โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียงต้องมี ระดับ ๑-๓ โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ต้องมีอย่างน้อย ระดับ ๑-๔  ความจริงจะให้ดีต้องมี ระดับ ๕

หรือจะสรุปลักษณะให้สั้นกระชับที่สุดคือ "พึ่งตนเองได้" และ "เป็นที่พึ่งได้" สถานศึกษาพอเพียงต้อง พึ่งตนเองได้ ทำได้ด้วยตนเอง ส่วนโรงเรียนศูนย์ฯ นอกจากจะ "พึ่งตนเองได้" แล้ว ยังต้อง "เป็นที่พึ่ง" ให้กับ "ผู้อื่น" ได้ด้วย

สังเกตวิธีการประเมินฯ

ผมสังเกตและสังเคราะห์จากการซักถามของคณะกรรมการฯ และจากตอนสะท้อนผลการประเมินฯ พบว่า กรรมการฯ น่าจะใช้หลัก ๓ อย่าง เป็นแนวทางในการประเมินฯ ได้แก่ ๑) การประเมินตามเกณฑ์ก้าวหน้า ๒) การประเมินเพื่อกำหนดแผนการให้พัฒนา และ ๓) การประเมินทรัพยากร ความมุ่งมั้น กำลังใจ และการให้ความสำคัญของชุมชนและเขตฯ  .... ผมคิดว่า กรรมการให้ความสำคัญกับข้อ ๓) มากที่สุด และให้ความสำคัญกับ ข้อ ๑) น้อยที่สุด


การประเมินตามเกณฑ์ก้าวหน้า กรรมการฯ น่าจะ "จับ" (ผมไม่เคยเป็นกรรมการประเมินฯ) เอาปัจจัยหรือความสามารถที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะตามเกณฑ์ก้าวหน้า ๕ ระดับ เช่น
     ระดับ ๑ สามารถตีความโดยใช้หลักคิด ๕ ประการได้ (๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข)
     ระดับ ๒ สามารถบอกผลลัพธ์ และตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตนเอง ก่อน-หลัง การน้อมนำมาใช้ได้
     ระดับ ๓ สามารถอธิบายได้ว่า ทำอย่างไร (บอกวิธีการได้) อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จ สามารถบอกแนวปฏิบัติที่ดีของตนเองได้อย่างชัดเจน
     ระดับ ๔ สามารถบอกขั้นตอนการขยายผลสู่คนอื่น และได้รับการยืนยันจากคนนั้นว่าเกิดผลแล้ว
     ระดับ ๕ ศรัทธา ภูมิใจ มีความสุข ... ปลูกฝังกับลูกหลานและผู้อื่นอย่างเป็นปกติสุข
โรงเรียนสถานศึกษาพอเพียงต้องมี ระดับ ๑-๓ โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ต้องมีอย่างน้อย ระดับ ๑-๔  ความจริงจะให้ดีต้องมี ระดับ ๕

หลังจากสะท้อนผลการประเมินตามเกณฑ์ก้าวหน้า กรรมการฯ จะเสนอแผนพัฒนาให้โรงเรียน นำไปดำเนินการทันที ในกรณีที่โรงเรียนโนนสังวิทยาคาร กรรมการฯ ให้ไปดำเนินการต่อดังนี้ครับ
  • ถอดบทเรียนเกี่ยวกับ รูปแบบการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนให้ชัดเจน ท่านหมายถึง หลักสูตรการสร้างอุปนิสัยพอเพียง การปลูกฝังผ่านโครงงานความดี (โครงงานเสริมสร้างอุปนิสัย) และ โครงงานพัฒนาการคิดแบบบูรณาการในกลุ่มสาระวิชา 
  • ปรับปรุงเรื่อง แผนการสอน และแผนกิจกรรมประจำฐานการเรียนรู้ โดยอาจไปดูหรือเชิญทางโรงเรียนศูนย์ที่เข้มแข็งมาช่วย 
  • ปรับปรุงสื่อและสร้างนวัตกรรมเพื่อเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารความสำเร็จของตนเอง เช่น จัดทำ VTR เว็บไซต์ คู่มือหลักสูตรฯ เป็นต้น
  • เตรียมการเพื่อรองรับการศึกษาดูงานจากโรเรียนต่างๆ โดยไม่ให้กระทบกับกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน กำหนดบทบาทและหน้าที่ การมีส่วนร่วม ของสำนักงานเขตฯ ชุมชน ผู้ปกครอง วัด ฯลฯ ต่อการขยายผลการขับเคลื่อนฯ รวมทั้งจัดให้การเดินทางไปมา ประชาสัมพันธ์ ให้สะดวก คุ้มค่า ต่อการเดินทางมาเยี่ยมศึกษาดูงานที่โรงเรียน 
  • ฯลฯ
ผมเชื่อว่า กรรมการจะพิจารณาในขั้นสุดท้ายว่า โรงเรียนจะผ่านการประเมินฯ และประกาศเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังใจของบุคลากร ชุมชน สำนักงานเขตพื้นที่ฯ  ว่า มีเต็มร้อยเพียงใด ให้ความสำคัญ พร้อมที่จะมาระดมสรรพกำลังช่วยกันต่อไป ให้เกิดความสำเร็จและยั่งยืนหรือไม่ .... หากใช่ ก็น่าจะผ่าน.....

คำถามสำคัญที่ นักเรียนแกนนำ ครู และ ผอ.โรงเรียนต้องตอบได้

  • ตนเองพร้อมจะเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ดูจากอะไร (ดูผลลัพธ์ คือประเมินตามเกณฑ์ก้าวหน้า)
  • บทบาทหน้าที่ของแต่กลุ่มคน (นักเรียน ครู ผอ. กรรมการสถานศึกษา สำนักงานเขตฯ) เมื่อตนได้เป็นโรงเรียนศูนย์ฯ  (ดูศักยภาพในการพัฒนา ประเมินเชิงพัฒนา)
  • จะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร (เปลี่ยนแปลงถึงใจ ระเบิดใจภายในหรือไม่)

๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓
แม้โรงเรียนโนนสังวิทยาคาร จะผ่านหรือไม่ผ่านการประเมินฯ ครั้งนี้ ผมเองก็ได้มีส่วนร่วมแล้วอย่างเต็มที่ และถือเป็นการทำความดีที่ได้ทำแล้ว.....

เสื้อส้ม รอง นายก อบต. เชียร์เต็มที่...


เคร่งเครียด...ฮา... กำลังรอฟังผลการสะท้อนจากกรรมการครับ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น