วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สมการความพอเพียง (ตีความจากการฟังคลิป ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร)

ขอบคุณและอนุโมทนาบุญกับ Youtube ที่ทำให้การเรียนรู้จากผู้อื่นเป็นเรื่องง่ายนัก อินเตอร์เน็ตทำให้เราเข้าสู่ยุค "ครูไม่รู้จักศิษย์" เรียบร้อยแล้ว ... เข้าใจว่า ขณะนี้มีศิษย์แบบ "ครูพักลักจำ" แบบผมนี่...นับไม่ถ้วนแล้ว

จากการศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) อย่างต่อเนื่อง ผมสรุปกับตนเองว่า บุคคลที่เข้าใจคำสอนของในหลวงราชกาลที่ ๙ มากที่สุดในโลกคนหนึ่ง คือ อ.ยักษ์ ดร.วิวัฒน ศัลยกำธร เหมาะสมอย่างยิ่งแล้ว ที่ท่านได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ อยู่ในขณะนี้  ... ผมตีความคำสอนของในหลวง ร.๙ ตามความเข้าใจ อ.ยักษ์ ด้วย "สมการความพอเพียง" ดังภาพ

ที่มาของสมการความพอเพียง
  • ท่าน อ.ยักษ์ ไม่ได้นำเสนอสมการนี้  ผมเป็นคนตีความจากการฟังคลิปอธิบายต่างๆ ที่ท่านสอนในยูทูปเอง (ดูบันทึกแนะนำคลิปที่ผมดูที่นี่) ... ดังนั้นหากท่านเห็นว่าถูกหรืออย่างไร ให้เข้าใจว่าท่านไม่ได้บอกคำว่า "สมการความพอเพียง" นี้นะครับ
  • อ.ยักษ์ ท่านจะพูดบ่อยๆ (ย้ำว่าพูดในคลิป) ว่า การอธิบายศาสตร์พระราชาหรือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย "๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" นั้นไม่สามารถจะสื่อสารศาสตร์พระราชาหรือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้  (การใช้ไดอะแกรม ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ ที่เห็นกันทั่วไป เป็นความพยายามของนักวิชาการที่ต้องการสื่อสารถ่ายทอด) ให้หยุดเสียที...  ผมเข้าใจว่า อธิบายแบบไหนก็ไม่ผิด หากเข้าใจและระเบิดออกมาจากภายในใจจริงๆ 
  • คำถามคือ ถ้าทดลองสังเคราะห์คำสอนตามแนวทาง อ.ยักษ์ ให้ออกมาเป็นสูตร (เหมือน ๓-๒-๔ คือ สามห่วง สองเงื่อนไข สี่มิติ) จะได้ "สมการความพอเพียง" เป็นอย่างไร 
สมการความพอเพียง
  • อ.ยักษ์ เน้นว่า 
    • ความพอเพียง นั้นเป็น "ผล" ไม่ใช่ "เหตุ" 
    • ความพอเพียง คือ พอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งจะทำให้เกิดผลที่สุดคือความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หรือก็คือ ความยั่งยืน
    • ดังนั้น ๓ ห่วง ก็คือ "ผล" ไม่ใช่ "เหตุ" ดังนั้น การเอาผลมาอธิบาย จึงยากที่จะเข้าใจจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  และสิ่งที่พูดกันนั้นใครๆ ก็พูดได้  เปรียบเสมือนคนไม่ดี (หรือพระไม่ดี) เอาธรรมะหรือความดีของพระพุทธเจ้ามาสอน 
    • การสอนศาสตร์พระราชาหรือ ปศพพ. ต้องเน้นไปที่ "เหตุ" เหตุที่นำมาสู่ "ผล" คือความพอเพียงดังกล่าวไป
    • "เหตุ" ของความพอเพียงคือ "ความรู้" และ "ความดี" (ความดีก็คือมีคุณธรรม) ดังนั้น จึงสามารถเขียนเป็นสมการความพอเพียงเป็น ความรู้ + ความดี = ความพอเพียง 
  • วิธีอธิบายสมการพอเพียง 
    • ความรู้  ... จะทำอะไรต้องมีความรู้ เริ่มจาก
      • รอบรู้ คือ รู้จักตนเอง รูู้ศักยภาพของตนเอง รู้จักประมาณในตนเอง รู้ลึกรู้ละเอียดในสิ่งที่จะทำ รู้เช่น จะเลี้ยงกุ้งต้องรู้เรื่องกุ้ง รู้วงจรชีวิตกุ้ง รู้วิธีการเลี้ยงกุ้ง ฯลฯ รู้รอบและรู้กว้างขวางในสิ่งที่เกี่ยวข้องครอบคลุม ๔ มิติ
      • รอบคอบ เมื่อจะลงมือทำอะไร ต้องรอบคอบ รอบคอบในการใช้ความรู้ คิดพิจารณาถึงเหตุผล มีเหตุมีผลในการลงมือทำ 
      • ระมัดระวัง คือ จะต้องระมัดระวังในการลงมือทำ วางแผนป้องกันเหตุหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึน  
    • ความดี ... ต้องเป็นผู้มีคุณธรรม 
      • คุณธรรมกำกับใจคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ก่อนจะทำอะไรต้องคิดพิจารณาเรื่องนี้ก่อน
      • คุณธรรมที่สำคัญที่สุดคือ "ความเพียร" ก็คือ การลงมือทำด้วยตนเอง พึ่งตนเอง  และมีความขยันและอดทน
      • เมื่อสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ก็ให้เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ผู้อื่น 
วันนี้พอแค่นี้ครับ ... ต่อไปนี้ ผมจะใช้สมการแห่งความพอเพียงนี้ เป็นประตูสู่คำสอนคำอธิบายต่างๆ ของ อ.ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร  ท่านใดเห็นว่าไม่ถูก ก็โปรดชี้แนะด้วยครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น