วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

SEEN มหาสารคาม _๑๖ : ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ (๕) "รักและหวงแหนภาษาไทย"

ผมประทับใจนักเรียนคนหนึ่งมากจน "น้ำตาไหล" แบบไม่อายใคร ในขณะที่ฟังเขาพูดนำเสนอเกี่ยวก้บ "การใช้ภาษาไทยของเด็กไทยสมัยนี้" 

อุปนิสัยพอเพียงประการสำคัญ คือการ "รู้จักตนเอง" เพราะคนที่จะ "รู้จักตนเอง" จะสามารถตัดสินใจให้ "พอประมาณ" กับตนเองได้ และถ้าตัดสินใจอย่างพอประมาณกับตนเองจนเป็นนิสัยแล้ว จะเป็นคนที่ "พอเพียง" ในสิ่งที่ตนเองมี ตนเองเป็น และจะเริ่ม "มองเห็น" ประโยชน์ส่วนรวม และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการ เสียสละ และอุทิสตนต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง...









ผมบันทึกเสียงการนำเสนอของนักเรียนในภาพไว้ แต่ไม่สะดวกนักในการค้นหาตอนนี้ จึงอยากฝาก ท่าน ผอ. สุรเชษฐ์ หรือ อาจารย์รักศักดิ์ ช่วยโพสท์ต่อบันทึกนี้ให้หน่อยว่า เขาชื่ออะไร เรียนอยู่ชั้นไหน อาจเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนคนอื่นๆ อยากจะไปเรียนรู้จากเขาว่า ทำอย่างไร จึงได้เกิด อุปนิสัยพอเพียง จนติดเป็นอุดมนิสัย "รักภาษาไทย" ขนาดนี้ได้

น้องฮีโร่ของผมไม่เฉพาะแสดง "ฉันทะ" ผ่านการสนทนานำเสนอเท่านั้น แต่คุณก้อย (ทีมขับเคลื่อนฯของเรา) บอกว่า เขาจะแต่งกลอนเองเป็นกิจวัตร และสะสมกลอนที่ผ่านการแต่งแล้วอย่างดีไว้ในสมุด "ล็อคบุค" (สมุดบัญชีปกสีน้ำเงิน) สะท้อนว่า "วิริยะ จิตตะ" และ "วิมังสา" พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ผมถามน้องว่า เกิด "ความคิด" "ความเห็น" หรือ "ความรู้สึก" นี้ตอนไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ ... เสียดายที่ผมจับคำตอบไม่ได้ ... จับได้เพียงว่า ครูภาษาไทย มีส่วนอย่างยิ่ง ...


ผมได้เรียนรู้ว่า คำว่า "จุงเบย" ที่วัยรุ่นมักคุยโต้ตอบกันในสังคมออนไลน์กันในขณะนี้ เป็นภาษาเขมร แปลว่า "จูงควาย"  แต่ก่อนมีคนบอกผมว่า ที่เป็น จุงเบย เพราะพิมพ์ผิด แป้นพิมพ์สระอุอยู่ใกล้ไม้หันอากาศ และ ลอ-ลิง อยู่ใกล้แป้นพิมพ์ บอใบไม้ ... ซึ่งก็สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง ....

ที่ผมถึงกับ "น้ำตาซึม" เพราะ การนำเสนอ บรรยากาศตอนนั้น ทำให้ผมนึกถึง พระราชดำรัสของในหลวง ที่ทรงเน้นให้คนไทย "รักและหวงแหน" ภาษาไทย ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง คณะทำงานฯ ผู้ใหญ่ในประเทศฯ ถึงกับบรรจุไว้เป็นแนวการจัดการศึกษาใน พ.ร.บ. การศึกษา  (อ่านได้ที่นี่ ) คิดถึงตรงนี้ ใจผมก็มีปีติยินดีว่า ผมพบอนาคตของ "ภาษาไทย" ที่น่าจะ "ยั่งยืน" ในตัวของเขาต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

SEEN มหาสารคาม _๑๕ : ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ (๔) เชื่อมโยง ๔ มิติ และ "๓ เชื่อม"

บันทึกที่ ๑...
บันทึกที่ ๒...
บันทึกที่ ๓...
บันทึกที่ ๔...

ก่อนที่จะแยกกลุ่มทำ Work Shop ผมนำข้อเสนอแนะ "หลักการขับเคลื่อนฯ " ของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ที่ผมเคยเรียบเรียงเป็น "ภาพ" ไว้ที่นี่  (ขยายความไว้ที่นี่ และที่นี่)

ดังที่ได้ "เน้น" แล้วในบันทึกที่ ๒ ว่า ในการขับเคลื่อนฯ ด้วย "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" นั้น จำเป็นจะต้อง ศึกษาเรียนรู้ให้ "รู้จักตนเอง" เสียก่อน  ในทางปฏิบัติสำหรับการขับเคลื่อนฯ ในโรงเรียน คำว่า "ตนเอง" ในที่นี้หมายถึง "โรงเรียน" การพิจารณาให้รู้จัก "ตนเอง" ควรครอบคลุมทั้ง ๔ มิติ ที่โรงเรียน "มีอยู่" หรือ "เป็นอยู่" เช่น 
  • วัตถุ/เศรษฐกิจ   คือ วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ-โสต-ไอซีที ฐานการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ทางกายภาพ / งบประมาณของโรงเรียน สภาพเศรษฐกิจของโรงเรียนและชุมชน ฯลฯ 
  • สังคม คือ อาจจะพิจารณา ๓ ระดับ ๑) เริ่มที่ความ "โลภ โกรธ หลง" ของผู้คนภายในโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะปัจจุบัน เช่น ผู้ปกครอง หรือคณะกรรมการสถานศึกษา ฯลฯ ว่า รุนแรงจนส่งผลให้เกิด "ปัญหาสังคม" หรือไม่ กลุ่มบุคคลที่มีน้อย อาจเหมาะสมที่จะเป็นแกนนำ ๒) พิจารณาดูความสมัครสมานสามัคคีของคนในโรงเรียน หรือโรงเรียนกับชุมชน คือ ดูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ  และ ๓) ดูระดับของการเสียสละ แบ่งปัน หรือ อุดมการณ์ต่อการทำเพื่อส่วนรวมของคนหรือสังคม 
  • วัฒนธรรม คือ พิจารณาดูวัฒนธรรมองค์กรของโรงเรียน และจุดเด่นด้านวัฒนธรรมของชุมชนและท้องถิ่น
  • ด้านสิ่งแวดล้อม นอกจะพิจารณาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีอยู่ของโรงเรียนแล้ว ควรพิจารณาถึง ระดับของความตระหนักต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนด้วย รวมถึง "ผลกระทบ" ต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาหรือการกระทำของคน 
และการขับเคลื่อนฯ สู่โรงเรียนนั้น ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์การร่วมประเมินโรงเรียนศูนย์ฯ พบว่า ปัญหาของการขับเคลื่อนส่วนหนึ่ง คือ การมุ่งเพียงถอดบทเรียนใหนักเรียน "ตีความ" เข้าใจในหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข แต่ไม่ได้เน้นการนำไปใช้จริง โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งต้องพิจารณาถึง หลัก ๔ มิติ และสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ผลลัพธ์ที่ต้อง "ยั่งยืน" และ "พร้อมรับการเปลี่ยนเแปลง" สรุปคือ การขับเคลื่อน ปศพพ. นั้นไม่ใช่เพียงทำความเข้าใจ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขเท่านั้น แต่ต้อง ไปถึง ๔ มิติ สู่ความ "ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง" ด้วย

หลักในการนำ ปศพพ. ไปใช้ในสถานศึกษาที่เสนอโดย ดร.ทิศนา แขมมณี กำหนดไว้ใน ๓ แนวทางหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนฯ ในห้องเรียน คือ ผ่านการเรียนการสอน การขับเคลื่อนฯ ด้วยกิจกรรมส่งเสริมฯ และ การขับเคลื่อนฯ  สู่กิจวัตรประจำวันของนักเรียน หรือลงสู่ชีวิตจริงๆ  ดังรูป



ในการขับเคลื่อนฯ ที่ ร.ร.นาดูนประชาสรรพ์ มีตัวอย่างการถอดบทเรียนกิจกรรมการขับเคลื่อนฯ โดยใช้แนวทางนี้เป็นหลัก ดังภาพด้านล่าง




ผมขอชื่นชมว่า ครูอาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ถอดบทเรียนได้อย่างชัดเจนว่า ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และได้ฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตหลากหลายประการ และจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นทักษะการคิดและทักษะการทำงานกลุ่ม  แต่สิ่งที่ยังไม่มั่นใจคือ ห่วงทั้ง ๓ นี้ "เชื่อม" หรือ "ไม่เชื่อม" ตามรูปด้านล่าง


เพราะ ถ้า "ไม่เชื่อมโยงกัน" จะทำให้ทั้งครูอาจารย์และนักเรียนต้องทำงานหนัก มีกิจกรรมมากมาย สิ่งที่เรียนในห้องก็ไม่เสริมความเข้าใจในกิจกรรม และไม่ได้นำไปใช้ในชีวิตจริงๆ  แต่ถ้า "เชื่อมโยงกัน" ผมมั่นใจว่า จะทำให้ "งานลดลง"  แน่นอน

ขอเสนอให้ ท่านอาจารย์ เขียนบันทึกเพื่ออธิบาย ความเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆ ตามรูปที่ท่านได้ถอดบทเรียนออกมาอย่างดีนั้นแล้ว เพื่อให้เพื่อนผู้กำลังขับเคลื่อนฯ ได้อ่าน เป็น "วิทยาทาน" จะอนุโมทนายิ่งครับ


วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

SEEN มหาสารคาม _๑๔ : ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ (๔) ถอดบทเรียนเชื่อมโยง

บันทึกที่ ๑...
บันทึกที่ ๒...
บันทึกที่ ๓...

หลังจากเน้นให้ ทุกคนตระหนักถึง "พื้นฐาน" ของการขับเคลื่อน ปศพพ. คือ "พลัง ๕" และ สิ่งแรกที่ต้องคำนึกถึงในการขับเคลือนฯ คือ "รู้จักตนเอง" แล้ว ผมได้บรรยายเพื่อจะ เน้นย้ำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" ที่เราจะนำมาใช้ในโรงเรียนนั้นควรมองเป็น "หลักคิด" คือ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยใช้วิธีการอธิบายที่ผมเขียนไว้ที่นี่ และเสนอเป้าหมายรายทางระหว่างนำ "หลักคิด" ไปใช้ ได้แก่ ใช้หลักคิด -> วิธีปฏิบัติ -> แนวปฏิบัติที่ดี -> หลักปฏบัติ -> ผลลัพธ์ที่ภูมิใจ -> ขยายผลสู่ผู้อื่น ซึ่งได้เขียนอธิบายไว้ที่นี่  ก่อนจะมอบหมายให้ ครูและนักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อ ระดมสมองใน ๒ ประเด็น ได้แก่
  • การนำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้ในโรงเรียน ตามบทบาทหน้าที่ของตน
  • การนำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ก่อนจะใหัพักรับประทานอาหารเที่ยง แล้วนำกลับมานำเสนอในภาคบ่าย ผมพบว่า การสื่อสารของผมไม่ค่อยดีนัก เพราะมีคำถามมากมาย จึงปรับวิธีการโดยใช้การอธิบายในกลุ่มย่อยทีละกลุ่ม และปล่อยให้แต่กลุ่มมีอิสระ ในการะดมความคิด ผลกลับกลายเป็นดีมาก เพราะมีการนำเสนอที่หลากเรื่องหลายประเด็น  ต่อไปนี้เป็นประเด็นสำคัญๆ ที่ผมได้ให้ "ความเห็น" หรือ "คอมเมนต์" กับตัวแทนกลุ่มที่ได้ออกมานำเสนอ 


ถอดบทเรียนให้เชื่อมโยง

เท่าที่ผ่านมา วิธีการที่ถือว่า "เป็นแนวปฏิบัติที่ดี" ในการขับเคลื่อนฯ ให้ "เข้าใจ" หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การตีความเชื่อมโยงสิ่งที่ทำแล้วหรือกำลังจะทำ ให้เข้ากับ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ ตามกรอบคิดเศรษฐกิจพอเพียง (ผมจัดระดับบทบาทของการขับเคลื่อนฯ แบบนี้อยู่ในระดับ ๒ อ่านได้ที่นี่)  ดังภาพด้านล่าง


จากภาพ จะเห็นว่า
  • เป็นการตีความสิ่งที่ทำคือ ค่ายคณิตศาสตร์ ให้เข้ากับ "ทฤษฎี ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ" เราเรียกในภาษาพูดของการขับเคลื่อนฯ ว่า ถอดบทเรียนแบบ "จับใส่กล่อง"  ประโยชน์คือ จะทำให้เกิดทักษะในการตีความ แยกแยะ วิเคราะห์  และเกิดความเข้าใจในหลัก ปศพพ. มากขึ้น 
  • เห็นตัวอย่างองค์ประกอบต่างๆ ของแต่ละห่วง แต่ละเงื่อน แต่ละมิติ แต่จะไม่เห็นวิธีการขั้นตอนในการปฏิบัติมากนัก  กล่าวคือ จะเห็นแต่ "หลักคิด" แต่ไม่เห็น "หลักปฏิบัติ" หรือ "แนวปฏิบัติ" ในการจัดค่ายคณิตศาสตร์  จะถอดบทเรียนกิจกรรมอะไร ผลจะได้คล้ายๆ กัน แยกไม่ออก  อย่างไรก็ตาม ผู้นำเสนอได้อธิบายขั้นตอนและวิธีโดยละเอียด 
ที่เห็นโดยทั่วไป การถอดบทเรียนในลักษณะเดียวกันนี้ จะใช้รูปหรือสีที่สวยงาม แต่ไม่ได้สื่อความหมายรูปนั้นกับข้อความ...  ผมเรียกการถอดบทเรียนแบบนี้ว่า "การถอดบทเรียนแบบดอกไม้"  ซึ่งสามารถแยกได้เป็นดอกไม้แต่ละดอกแยกกันดังรูป





ข้อ "คอมเมนต์" หรือ "ความเห็น" ของผมคือ  ลักษณะประการสำคัญของ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" คือ ทั้ง ๓ ห่วง จะร้อยเรียงไม่แยกจากกัน ดังนั้นการถอดบทเรียนควรจะแสดงให้เห็นถึง "ความเชื่อมโยง" และในการถอดบทเรียนควรกระตุ้นให้นักเรียนคิดละเอียดถึงขั้นตอน วิธี หรือแนวปฏิบัติในการทำสิ่งนั้นๆ  ตัวอย่างเช่น การถอดบทเรียนลงใน "พวงผลไม้" ดังรูป



หากจะให้ดี หรือ หากทำได้ ควรท้าทายให้นักเรียนใช้ Mind Mapping แสดงความเชื่อมโยงของแต่ละองค์ประกอบของการทำงาน ว่ามีเชื่อมโยง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติอย่างไร  หรืออาจใช้ "พวงองุ่น" ที่เชื่อมโยงกันหลายมิติ ฯลฯ